ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่กำลังรอคณะผู้นำชุดใหม่ของยุโรป

(VOVWORLD) - เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม คณะผู้นำชุดใหม่ของสหภาพยุโรปหรือ EU ได้เริ่มวาระใหม่อย่างเป็นทางการ ตามความเห็นของบรรดาผู้สังเกตการณ์ ในตลอดระยะเวลา 5 ปีต่อจากนี้ คณะผู้นำชุดใหม่ของ EU จะต้องแก้ไขความท้าทายที่ได้รับการถือว่า เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดที่สหภาพยุโรปต้องเผชิญนับตั้งแต่กลุ่มนี้ได้รับการก่อตั้ง ทั้งเรื่องความมั่นคง ภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจ
ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่กำลังรอคณะผู้นำชุดใหม่ของยุโรป - ảnh 1ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่กำลังรอผู้นำคนใหม่ของยุโรป (AFP)

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน รัฐสภายุโรปได้อนุมัติรายชื่อผู้ที่ดำรงตำแหน่งสำคัญได้แก่ นาง เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ ไลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป นาย อันโตนิโอ คอสตา ประธานสภายุโรปและนาง คาจา คัลลาส ผู้แทนระดับสูงด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงของสหภาพยุโรป คณะผู้นำชุดใหม่ของสหภาพยุโรปได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา

ปัญหาที่ยากลำบากของยูเครน

ในวันแรกปฏิบัติหน้าที่ใหม่ นาย อันโตนิโอ คอสตา ประธานสภายุโรปและนาง คาจา คัลลาส ผู้แทนระดับสูงด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงของสหภาพยุโรป ได้เดินทางไปยังกรุงเคียฟเพื่อเจรจากับนาย โวโลดีมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน โดยได้ประกาศว่า การปฏิบัติภารกิจครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของสหภาพยุโรปในการสนับสนุนยูเครนจนกว่าสงครามจะยุติ ในสภาวการณ์ที่การปะทะรัสเซีย - ยูเครนยืดเยื้อมานานกว่า 1,000 วันซึ่งได้สร้างความเสียหายอย่างหนักทั้งด้านเศรษฐกิจ ชีวิตและโครงสร้างพื้นฐานของยูเครน การปฏิบัติภารกิจนี้ยังแสดงให้เห็นว่า การปะทะในยูเครนจะยังคงเป็นหนึ่งในหัวข้อที่สำคัญที่สุด เพราะส่งผลกระทบต่อนโยบายทั้งหมดของสหภาพยุโรป ตลอดจนประเทศสมาชิกอื่นๆของ EUในเวลาที่จะถึง ภายหลังการเดินทางไปปฏิบัติภารกิจของนาย อันโตนิโอ คอสตา และนาง คาจา คัลลาส นายกรัฐมนตรีเยอรมนี โอลาฟ ชอลซ์ ก็เดินทางไปยังกรุงเคียฟเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม โดยให้คำมั่นที่จะสนับสนุนเงินช่วยเหลือทางทหารงวดใหม่ รวมมูลค่าเกือบ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่ยูเครน

ตามความเห็นของบรรดาผู้สังเกตการณ์ ปัญหายูเครนกำลังกลายเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมากขึ้นต่อสหภาพยุโรป เนื่องจากการที่นาย โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ จะทำให้ภาระหน้าที่ในการแก้ไขการปะทะอาจตกอยู่บนไหล่ของยุโรป ก่อนหน้านั้น นาย โดนัลด์ ทรัมป์ เคยประกาศหลายครั้งว่า อยากยุติการปะทะในยูเครนทันที และเรียกร้องให้ยุโรปต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้นต่อปัญหายูเครน นาง เลสลี วินจามูรี ผู้อำนวยการโครงการอเมริกาและทวีปอเมริกาของสถาบันวิจัย Chatham House ประเทศอังกฤษแสดงความเห็นว่า

“ข้อกังวลที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งของยุโรปคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับยูเครน กับความมั่นคงของยุโรปและคำมั่นของสหรัฐต่อองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือหรือ NATO และปัญหายูเครนจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าสหรัฐจะให้การสนับสนุนยุโรปอย่างเข้มแข็งจริงจังหรือไม่?”

ไม่เพียงแต่มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับนโยบายต่อยูเครนของรัฐบาลสหรัฐชุดใหม่เท่านั้น หากความท้าทายที่สำคัญกว่าสำหรับยุโรปก็คือ ยุโรปมีความมุ่งมั่นทางการเมืองและระดมแหล่งพลังทางเศรษฐกิจอย่างเพียงพอเพื่อรับบทบาทเป็นผู้สนับสนุนหลักให้แก่ทางการยูเครนหรือไม่ ตามความเห็นของบรรดาผู้สังเกตการณ์ การที่นาง คาจา คัลลาส ซึ่งมีทัศนะที่แข็งกร้าวต่อรัสเซียและสนับสนุนยูเครนอย่างเต็มที่ ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าฝ่ายการทูตและความมั่นคงได้แสดงให้เห็นว่า สหภาพยุโรปจะไม่ยอมรับแรงกดดันจากนาย โดนัลด์ ทรัมป์ เกี่ยวกับปัญหายูเครน ส่วนนาย Jan Lipavsky รัฐมนตรีต่างประเทศสาธารณรัฐเช็กได้แสดงความเห็นเช่นเดียวกันว่า แม้ว่านาย โดนัลด์ ทรัมป์ จะไม่กดดัน แต่ก็ถึงเวลาแล้วที่ยุโรปจะต้องมีบทบาทมากขึ้น

“ผมคิดว่า ยุโรปต้องมีบทบาทที่เข้มแข็งมากขึ้น แม้ว่านาย โดนัลด์ ทรัมป์ จะไม่สร้างแรงกดดันก็ตาม เราต้องเตรียมพร้อมให้แก่เรื่องนั้น เพราะอาจมีสถานการณ์ที่ยูเครนต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากยุโรปมากขึ้น”

ยุโรปต้องมาก่อน

สำหรับคณะผู้นำชุดใหม่ของสหภาพยุโรป การปะทะในยูเครนเป็นเพียงหนึ่งในความท้าทายที่กลุ่มนี้ต้องเผชิญเท่านั้น เพราะปัญหาอื่น ๆ อย่างเช่น ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะถดถอย  และขีดความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงเมื่อเทียบกับสหรัฐและจีนก็ถือเป็นเรื่องที่ผู้นำยุโรปต้องกังวลมากขึ้น ในรายงานเกี่ยวกับอนาคตของความสามารถในการแข่งขันของยุโรปซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา นาย มาริโอ ดรากี อดีตประธานธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB ได้เตือนว่า ยุโรปกำลังตามหลังในการแข่งขันทางเศรษฐกิจกับสหรัฐและจีน โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีและมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการแข่งขันของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงดังกล่าว รายงานได้เสนอให้ยุโรปปฏิบัติ “แผนการมาร์แชลล์ 2.0” โดยใช้เงิน 8 แสนล้านยูโรต่อปีเพื่อลงทุนในด้านเทคโนโลยี พลังงานและกลาโหม

ในการกล่าวปราศรัยเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนหลังจากขึ้นดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยุโรปวาระที่ 2 นาง เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ได้ประกาศยุทธศาสตร์ “Competitive Compass” ซึ่งถือเป็นเนื้อหาหลักที่สหภาพยุโรปจะปฏิบัติในวาระใหม่ มีการจัดตั้งกลุ่มปฏิบัติงานเพื่อปรับเปลี่ยนเนื้อหาในรายงานของนาย มาริโอ ดรากี ให้เป็นข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมให้แก่สหภาพยุโรป ส่วนตามความเห็นของนาย สเตฟาน เซเจอร์น รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปและอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส การตระหนักรับรู้ใหม่นี้ก็คือ “ยุโรปต้องมาก่อน” ช่วยให้สหภาพยุโรปถ่วงดุลกับนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ของนาย โดนัลด์ ทรัมป์ และดุลการค้ากับจีน

แต่อย่างไรก็ตาม การแก้ไขความท้าทายด้านการแข่งขันกับสหรัฐในสมัยของนาย โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ใช่เรื่องง่าย ขณะนี้ เจ้าหน้าที่ชั้นนำของยุโรปมีความกังวลเป็นอย่างมากว่า นาย โดนัลด์ ทรัมป์ จะใช้ภาษีเป็นอาวุธเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้าเหนือพันธมิตร เช่นเดียวกับการที่นาย โดนัลด์ ทรัมป์ ออกคำขู่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า จะเก็บภาษีต่อเม็กซิโกและแคนาดาร้อยละ 25 ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลเพราะในสมัยที่นาย โดนัลด์ ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก ได้มีการสั่งเก็บภาษีต่อผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียมและเหล็กกล้าที่นำเข้าจากยุโรป นาย เปาโล เกนติโลนี กรรมาธิการฝ่ายเศรษฐกิจของคณะกรรมาธิการยุโรปได้แสดงความเห็นว่า

“การที่สหรัฐมีความเป็นไปได้ที่จะกลับไปใช้การคุ้มครองทางการค้าซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อทั้งเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจยุโรป ดังนั้น คณะกรรมาธิการยุโรปจะทำงานร่วมกับทางการชุดใหม่ของสหรัฐเพื่อส่งเสริมระเบียบวาระข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกที่เข้มแข็ง และค้ำประกันว่า ช่องทางการค้าระหว่างประเทศจะยังคงเปิดกว้างและปลอดภัย”

ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ยุโรปหลายคนและประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปมีทัศนะที่แข็งกร้าวมากขึ้นต่อนาย โดนัลด์ ทรัมป์ ตามความเห็นของรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจเยอรมนี Robert Habeck ตลาดยุโรปก็มีความสำคัญต่อสหรัฐเช่นกัน และทางการสหรัฐต้องเข้าใจเรื่องดังกล่าว พร้อมทั้ง เรียกร้องให้ยุโรปสามัคคีถ้าหากสหรัฐเริ่มทำสงครามการค้า และเตือนว่า วิธีการเข้าถึงที่ไม่มีความมั่นใจในตัวเองในความสัมพันธ์กับสหรัฐจะส่งผลกระทบในทางลบต่อยุโรป.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด